Liverpool, 2nd Earl of; Robert Jenkinson (1770-1828)

รอเบิร์ต เจงกินสัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิเวอร์พูล (๒๓๑๓-๒๓๗๑)

​​​

     รอเบิร์ต เจงกินสัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิเวอร์พูลเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่าง ค.ศ. ๑๘๑๒-๑๘๒๗ เขาเข้าสู่วงการการเมืองเมื่อมีอายุเพียง ๒๐ ปีและดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในคณะรัฐบาลจนถึง ค.ศ. ๑๘๑๒ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวัย ๔๒ ปีเขานำประเทศผ่านวิกฤตการณ์ในช่วงสุดท้ายของสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* และฟันฝ่าอุปสรรคและความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงหลังสงครามจนอังกฤษฟื้นตัวได้ในทศวรรษ ๑๘๒๐ แม้ลิเวอร์พูลจะไม่มีบทบาทอันโดดเด่นในฐานะผู้นำประเทศหรือรัฐบุรุษ แต่ก็เป็นบุคคลที่สามารถเลือกนักการเมืองที่มีความสามารถสูงมาช่วยบริหารประเทศและทำให้อังกฤษเจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน โดยทั่วไป ลิเวอร์พูลได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ประสานความร่วมมือระหว่างนักการเมืองของพรรคทอรี (Tory)* หรือพรรคอนุรักษนิยม (Conservative)* ได้เป็นอย่างดี และความมั่นคงของพรรคในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีก็เกิดจากบุคลิกภาพของเขาและการเป็นที่ยอมรับนับถือในพรรค
     ลิเวอร์พูลเกิดเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๗๐ ที่กรุงลอนดอน เป็นบุตรคนเดียวของชาลส์ เจงกินสัน [(Charles Jenkinson) ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ลอร์ดแห่งฮอว์กสเบอรี (Lord of Hawkesbury) และเอิร์ลที่ ๑ แห่งลิเวอร์พูล (1st Earl of Liverpool)] ซึ่งเป็นนักการเมืองคนสำคัญและที่ ปรึกษาคนสนิทของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ (George III ค.ศ. ๑๗๖๐-๑๘๒๐)* กับอะมีเลีย วัตต์ (Amelia Watts) สาวลูกครึ่งอังกฤษ-อินเดีย หลังจากลิเวอร์พูลเกิดได้เพียง ๑ เดือนมารดาก็เสียชีวิต ต่อมาบิดาได้สมรสใหม่และมีบุตรชาย-หญิงอีก ๒ คน ลิเวอร์พูลได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนแอลเบียนเฮาส์ (Albion House) เมืองฟูลัม (Fulham) และระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๓-๑๗๘๗ ที่โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ (Charter House) หลังจากนั้นเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช (Christ Church College) มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและได้รับปริญญามหาบัณฑิตใน ค.ศ. ๑๗๙๐ ขณะเป็นนักศึกษาลิเวอร์พูลมีทักษะในด้านภาษาและสามารถพูดภาษาละตินและฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว
     ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ ลิเวอร์พูลมีโอกาสเดินทางไปท่องเที่ยวฝรั่งเศสและได้พบเห็นเหตุการณ์การลุกฮือของประชาชนที่โกรธแค้นและการทลายคุกบาสตีย์ (Fall of the Bastille)* เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาหวั่นไหวต่อการใช้ความรุนแรงของฝูงชน และเมื่อมีอำนาจทางการเมือง เขาก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับฝูงชน
     ขณะอายุยังไม่ครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ลิเวอร์พูลซึ่งสนับสนุนพรรคทอรีหรือพรรคอนุรักษนิยมมีชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๐ และได้เป็นสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) จากเขตไรย์ (Rye) ที่เป็น "เขตเลือกตั้งกระเป๋า" หรือเขตเลือกตั้งใต้อิทธิพล (pocket borough) ของเซอร์เจมส์ โลว์เทอร์ (James Lowther) อย่างไรก็ดี เนื่องจากเขายังไม่บรรลุนิติภาวะ (๒๑ ปี) จึงไม่มีคุณสมบัติครบเป็นผู้แทนราษฎรได้ ลิเวอร์พูลจึงต้องรอเวลาเกือบ ๑ ปีถึงจะปฏิบัติหน้าที่ได้ เมื่อได้เป็นสมาชิกสภาสามัญแล้วเขาได้มีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์เป็นครั้งแรกในรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๒ ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่เพื่อนสมาชิกสภาเป็นอันมาก โดยเฉพาะวิลเลียม พิตต์ (บุตร) (William Pitt, the Younger)* นายกรัฐมนตรีแห่งพรรคทอรีในขณะนั้น อีก ๑ สัปดาห์ต่อมา พิตต์ได้เชิญลิเวอร์พูลเข้าร่วมในการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย หลังจากนั้นลิเวอร์พูลก็ใช้ชีวิตท่องไปในภาคพื้นทวีปยุโรปเป็นการส่วนตัวเพื่อสำรวจเหตุการณ์ทางสังคมและการเมืองในนานาประเทศที่ได้รับผล กระทบจากการปฏิวัติฝรั่งเศส การเดินทางดังกล่าวนับว่ามีส่วนสำคัญที่ ทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์ทั่วไปในยุโรปได้ดีขึ้นและเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ทางการเมืองในอนาคต
     ก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๘๑๒ ลิเวอร์พูลได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางการเมือง โดยเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักควบคุมกิจการอินเดีย (Board of Control for India ค.ศ. ๑๗๙๓-๑๗๙๖) อธิบดีกรมกษาปณ์ (Master of the Royal Mint ค.ศ. ๑๗๙๙-๑๘๐๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ( ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๐๔) ในคณะรัฐบาลของเฮนรี แอดดิงตัน[ (Henry Addington)* ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๐๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ไวส์เคานต์ซิดมัท (Sidmouth)] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ( ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๐๖; ค.ศ. ๑๘๐๗-๑๘๐๙) ในคณะรัฐบาลวิลเลียมพิตต์ (บุตร) สมัยที่ ๒ และในคณะรัฐบาลวิลเลียม คาเวนดิช เบนทิงก์ ดุ๊กที่ ๓ แห่งพอร์ตแลนด์ (William Cavendish Bentinck, 3rd Duke of Portland) สมัยที่ ๒ ตามลำดับ และท้ายที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและอาณานิคม ( ค.ศ. ๑๘๐๙-๑๘๑๒) ในรัฐบาลสเปนเซอร์ เพอร์ซิวัล (Spencer Perceval) ในช่วงทศวรรษเดียวกันนั้น ลิเวอร์พูลก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์บารอนฮอว์กสเบอรี (Baron Hawkesbury) ใน ค.ศ. ๑๘๐๓ ซึ่งทำให้เขาได้รับสิทธิเป็นสมาชิกสภาขุนนาง (House of Lords) พร้อมกับยุติบทบาทสมาชิกสภาสภาสามัญที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นเวลา ๑๑ ปีติดต่อกันนับแต่ ค.ศ.๑๗๙๒ ต่อมา ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๘ เมื่อเอิร์ลที่ ๑ แห่งลิเวอร์พูลผู้เป็นบิดาถึงแก่อนิจกรรม ลิเวอร์พูลในฐานะบุตรชายคนโตได้สืบทอดบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลที่ ๒ แห่งลิเวอร์พูล
     ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๐๔ และร่วมในคณะรัฐบาลกับบิดา ลิเวอร์พูลมีบทบาทในการทำสนธิสัญญาอาเมียง (Treaty of Amiens ค.ศ. ๑๘๐๒) ระหว่างอังกฤษ กับฝรั่งเศส สเปน และฮอลันดา ซึ่งทำให้สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในสมัยระบบกงสุล (Consulate System)* ยุติลง แม้สนธิสัญญาจะนำสันติภาพมาสู่อังกฤษในช่วงระยะเวลาเพียงสั้น ๆ แต่ก็สร้างชื่อเสียงให้แก่ลิเวอร์พูล อย่างไรก็ดี การสูญเสียดินแดนต่าง ๆ จากสนธิสัญญาอาเมียงเพื่อแลกกับสันติภาพ กอปรกับการไม่ปฏิบัติตามพันธะสัญญาของนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ที่ขณะนั้นดำรง ตำแหน่งกงสุลที่ ๑ ของฝรั่งเศสก็มีผลให้แอดดิงตันเสื่อมความนิยมลง ท้ายที่สุดแอดดิงตันต้องลาออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๘๐๔ และเปิดโอกาสให้วิลเลียม พิตต์ (บุตร) ผู้นำคนสำคัญของพรรคทอรีกลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
     เมื่อนายกรัฐมนตรีพิตต์ (บุตร) ถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. ๑๘๐๖ พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะแต่งตั้งลิเวอร์พูลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เขาปฏิเสธ พระองค์จึงทรงฝืนพระทัยแต่งตั้งคณะรัฐบาลผสม ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักกันต่อมาว่า "คณะรัฐมนตรีชุดปราดเปรื่อง" (Ministry of All the Talents) โดยมีวิลเลียม วินดัม เกรนวิลล์ ลอร์ดที่ ๑ แห่งเกรนวิลล์ (William Wyndham Grenville, 1st Lord of Grenville) แห่งพรรคทอรีที่ร่วมมือกับพรรควิก (Whig)* หรือพรรคเสรีนิยม (Liberal)* เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๖-๑๘๐๗ ส่วนลิเวอร์พูลเป็นผู้นำฝ่ายค้าน นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตนักการเมืองของเขาที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญใด ๆ ในทางการเมืองนับแต่ ค.ศ. ๑๗๙๓ จนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยปัญหาสุขภาพใน ค.ศ. ๑๘๒๗
     ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๑๒ เมื่อนายกรัฐมนตรีเพอร์ซิวัลที่เข้ารับตำแหน่งต่อจากลอร์ดแห่งเกรนวิลล์และดุ๊กแห่งพอร์ตแลนด์ถูกพ่อค้าที่เสียสติเพราะล้มละลายลอบสังหารในห้องโถงสภาสามัญลิเวอร์พูลซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงครามและอาณานิคมและเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสูงในคณะรัฐบาลขณะนั้นก็ได้รับการทาบทามจากจอร์จเจ้าชายแห่งเวลส์ (George, Prince of Wales) หรือผู้สำเร็จราชการ (Prince Regent) ให้เป็นนายกรัฐมนตรีกอปรกับเขาเคยมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อพระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงมีพระสัญญาวิปลาสและไม่สามารถปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้อีกต่อไป และสนับสนุนให้พระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการในต้น ค.ศ. ๑๘๑๑ แม้ลิเวอร์พูลจะตระหนักดีว่าเขามิได้เป็นบุคคลแรกที่อยู่ในสายพระเนตรและมีผู้ตอบปฏิเสธไปก่อนหน้านี้แล้ว ๔ คน แต่ด้วยสำนึกว่าหากไม่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่จะทำให้พรรคทอรีแตกสลายได้ อีกทั้งยังตั้งความหวังว่าจะสามารถค้นพบนักการเมืองรุ่นหนุ่มที่มีความสามารถเช่นวิลเลียม พิตต์ (บุตร) ที่พระเจ้าจอร์จที่ ๓ ทรงแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยวัยเพียง ๒๔ ปีเท่านั้น เข้ามาสืบทอดดำรงตำแหน่งได้ในอนาคต เขาจึงไม่อาจปฏิเสธได้และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๒ และอยู่ในตำแหน่งนี้ติดต่อกันจนถึง ค.ศ. ๑๘๒๗ เป็นเวลา ๑๕ ปี
     ในการบริหารประเทศระยะแรก ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพอังกฤษต่อฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน การยุติสงครามกับสหรัฐอเมริกาและต่อมาชัยชนะในยุทธการที่วอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ในสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ทำให้ลิเวอร์พูลและคณะรัฐบาลของเขาเป็นที่ชื่นชมของชาวอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง ทั้งอังกฤษยังมีบทบาทเด่นในที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* ในการฟื้นฟูสันติภาพให้แก่ยุโรป ส่วนลิเวอร์พูลก็ได้รับสถาปนาให้เป็นอัศวินแห่งการ์เตอร์ (Knight of the Garter) ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่ขุนนางอังกฤษจะพึงได้รับพระราชทานจากประมุข นับเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในรอบกว่าทศวรรษ ลิเวอร์พูลจึงเป็นความหวังของประชาชนโดยทั่วไปในการปฏิรูปและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่สืบเนื่องจากสงครามที่กินระยะเวลาอันยาวนาน
     ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน สินค้าที่ล้นตลาดในอังกฤษที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้ระบบปิดล้อมภาคพื้นทวีป (Continental System)* ของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ เพื่อทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เมื่อสงครามสิ้นสุดลง อังกฤษก็ยังไม่สามารถส่งออกสินค้าได้อีกเนื่องจากนานาประเทศที่ได้รับภัยสงครามไม่อยู่ในภาวะที่จะสั่งซื้อสินค้าจากอังกฤษได้ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการล้มละลายของ โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการว่างงานจึงปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป นอกจากนี้ การเดินทางกลับของทหารผ่านศึกจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คนก็ยิ่งทำให้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่วนพวกอดีตกรรมกรโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งรวมตัวกันเรียกว่าพวกลัดไดต์ (Luddites) ก็ก่อการจลาจลและเข้าทำลายเครื่องจักรต่าง ๆ ตามเมืองอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศ นอกจากนี้ ในช่วงสงครามรัฐบาลได้ก่อหนี้สินเป็นจำนวนเงินถึง ๘๕๐ ล้านปอนด์ ซึ่งทำให้รัฐต้องหารายได้โดยการเพิ่มภาษีทั้งภาษีรายได้และภาษีทางอ้อมต่อไป ภาวการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากด้วยการชุมนุมประท้วงของมวลชนจำนวนมาก ต่อมาได้กลายเป็นการก่อการจลาจลวุ่นวายขึ้นในสังคม โดยมีวิลเลียม คอบเบตต์ (William Cobbett) ผู้จัดพิมพ์หนังสือรายสัปดาห์ Cobbett's Weekly Register จอห์น คาร์ตไรต์ (John Cartwright) และเฮนรีฮันต์ (Henry Hunt) นักการเมืองหัวรุนแรงเป็นผู้นำการประท้วง
     อย่างไรก็ดี ลิเวอร์พูลซึ่งแม้จะเป็นผู้เสนอให้มีการยกเลิกการค้าทาสในที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา แต่โดยความเป็นจริงแล้วเขาเป็นพวกอนุรักษนิยม จึงมักไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปฏิรูปต่าง ๆ และต้องการให้คงสถานะเดิม (status quo) ในสังคมอังกฤษต่อไป ดังนั้นแทนที่จะหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ ลิเวอร์พูลกลับผลักดันให้รัฐสภาผ่านกฎหมายข้าว ค.ศ. ๑๘๑๕ (Corn Law, 1815)* เพื่อกีดกันไม่ให้ข้าวหรือธัญญาพืชราคาถูกจากต่างประเทศที่หลั่งไหลสู่อังกฤษในช่วงสงครามนโปเลียนเข้ามาตีตลาดข้าวภายในประเทศอีกต่อไป แม้กฎหมายข้าวฉบับ ค.ศ. ๑๘๑๕ จะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ผลิตข้าวชาวอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่คือขุนนางและคหบดีเจ้าของที่ดิน แต่ปรากฏว่าราคาข้าวที่เป็นวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นก็ทำให้ราคาขนมปังซึ่งเป็นอาหารหลักของคนทั่วไปที่ผลิตจากข้าวสาลีขยับตัวสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ราคาขนมปังหนึ่งก้อนเพิ่มขึ้นจาก ๑๐ เพนนีเป็น ๑ ชิลลิง ๒ เพนนีขณะที่ ค่าจ้างแรงงานของคนงานไร่ตกสัปดาห์ละ ๘ ชิลลิงเท่านั้น กฎหมายฉบับนี้จึงสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป ในไม่ช้ารัฐบาลลิเวอร์พูลก็ตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อต่าง ๆ ซึ่งทำให้ลิเวอร์พูลตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีหนังสือพิมพ์ ต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๘๑๖ เมื่ออังกฤษต้องเผชิญกับภาวะ เศรษฐกิจถดถอย การว่างงาน และความล้มเหลวในการเพาะปลูกซึ่งทำให้ราคาสินค้าบริโภคต่าง ๆ มีราคาสูงขึ้น การต่อต้านรัฐบาลจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวและบานปลายเป็นการจลาจลครั้งใหญ่ มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ลิเวอร์พูลจึงพยายามแก้สถานการณ์โดยให้รัฐสภาผ่านกฎหมายที่ ระงับการที่ศาลสามารถออกหมายสั่งให้ผู้ถูกคุมขังมาศาล (habeas corpus) เป็นเวลา ๒ ปี แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจของรัฐเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนตามกฎหมาย แต่สำหรับลิเวอร์พูลการรักษาระเบียบวินัยของสังคมโดย เฉพาะในช่วงระยะเวลาหลังสงครามมีความจำเป็นมากกว่า
     อย่างไรก็ดี ในการรักษาระเบียบวินัยของสังคมลิเวอร์พูลก็ไม่มีนโยบายที่จะขยายอำนาจของรัฐบาลกลาง ทั้งยังขาดกำลังตำรวจอีกด้วย ดังนั้น เขาจึงต้องพึ่งผู้พิพากษาแขวง (magistrate) ในท้องถิ่นต่าง ๆ ในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่การขาดประสบการณ์ในการจัดการกับผู้ก่อความไม่สงบทำให้ผู้พิพากษาแขวงในมณฑลแมนเชสเตอร์ (Manchester) ออกคำสั่งให้กองทหารม้าอาสาสมัคร (yeomanry) เข้าจับกุมเฮนรีฮันต์ขณะนำกลุ่มผู้ประท้วงจำนวน ๖๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ คนปักหลักชุมนุมกันที่บริเวณเซนต์ปีเตอร์สฟีลด์ (St.Peter's Field) เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองการใช้ความรุนแรงของกองทหารม้าอาสาสมัครทำให้มีผู้ประท้วงจำนวน ๑๑ คนเสียชีวิตและอีกกว่า ๔๐๐ คนได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์นี้จึงเป็นที่มาของชื่อ การสังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลู (Peterloo Massacre)* ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัปยศและเป็นชื่อเรียกอย่างเย้นหยัน เพื่อให้พ้องกับชื่อของตำบลวอเตอร์ลูในเบลเยียมที่สร้างเกียรติประวัติแก่กองทัพอังกฤษในการบดขยี้กองทัพฝรั่งเศสของจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และเป็นสงครามครั้งล่าสุดของ อังกฤษ แม้ลิเวอร์พูลจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุดังกล่าวและกล่าวตำหนิผู้พิพากษาแขวงเป็นการส่วนตัว แต่เขากลับกล่าวยกย่องพวกเขาในที่สาธารณะพร้อมกับออกกฎหมาย ๖ ฉบับเพื่อป้องกันการก่อการปฏิวัติซึ่งเรียกรวมกันว่าพระราชบัญญัติ ๖ ฉบับ (Six Acts) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๑๙ อันได้แก่ห้ามการชุมนุมเกินกว่า ๕๐ คน ให้อำนาจผู้พิพากษาแขวงในการค้นหาอาวุธในบ้านพักอาศัยของประชาชน ห้ามพลเรือนฝึกวิชาทหารกันเอง เพิ่มบทลงโทษสำหรับการหมิ่นประมาทใส่ร้ายและการปลุกปั่นเพื่อก่อความไม่สงบ จำกัดสิทธิของผู้ต้องหาในการขอเลื่อนการพิจารณาคดีและการเพิ่มภาษีสแตมป์มูลค่า ๔ เพนนีกับหนังสือพิมพ์หัวรุนแรงและจุลสารราคาถูกทั่วไปเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลูและการออกพระราชบัญญัติ ๖ ฉบับดังกล่าวนับว่าสร้างความด่างพร้อยให้แก่รัฐบาลลิเวอร์พูลเป็นอย่างยิ่ง และถูกพวกชนชั้นกรรมาชีพประณามไปทั่วทั้งประเทศ แม้แต่การเรียกร้องของขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism)* ในเวลาอีก ๒๐ ปีต่อมาที่ต้องการให้มีผู้แทนของชนชั้นกรรมาชีพในสภาสามัญ "การกระทำเปื้อนเลือดที่ปีเตอร์ลู" (Bloody Deeds of Peterloo) ก็ได้ถูกนำมาโฆษณาปลุกระดมเพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงการกระทำที่รุนแรงของรัฐบาลในการปราบปรามการเรียกร้องทางการเมืองของพวกชนชั้นกรรมาชีพ
     นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "กรณีพระนางแคโรลีน" (Queen Caroline Affair) ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล โดยในต้น ค.ศ. ๑๘๒๐ หลังพระเจ้าจอร์จที่ ๓ เสด็จสวรรคตและผู้สำเร็จราชการได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าจอร์จที่ ๔ (George IV ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๘๓๐)* กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงพยายามโน้มน้าวให้ลิเวอร์พูลเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อหย่าขาดจากเจ้าหญิงแคโรลีนพระมเหสีที่มิได้ประทับด้วยกันเป็นเวลาอันยาวนานแล้ว แต่ปรากฏว่าประชาชนจำนวนมากกลับยืนหยัดอยู่ข้างเจ้าหญิงแคโรลีนและกล่าวโจมตีอย่างรุนแรงถึงพฤติกรรมของพระเจ้าจอร์จที่ ๔ ที่มักขัดกับศีลธรรมอันดีงามรวมทั้งข่มขู่จะก่อการปฏิวัติ ท้ายที่สุดลิเวอร์พูลจึงต้องขอถอนร่างพระราชบัญญัติและสามารถระงับเหตุการณ์ไม่ให้บานปลายต่อไปอีก แต่กรณีพระนางแคโรลีนก็เป็นการเปิดโอกาสให้พรรควิกเข้ามีบทบาททางการเมืองมากขึ้นและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับประชาชน จนในที่สุดทำให้พรรควิกสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในปลายทศวรรษ ๑๘๒๐
     อย่างไรก็ดี ในต้นทศวรรษ ๑๘๒๐ นโยบาย กระตุ้นการใช้เงินสด (เงินเหรียญกษาปณ์) เพื่อแก้ไขสภาวะเงินฝืด การออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการใช้เงินและการประกาศใช้มาตรฐานทองคำเพื่อค้ำประกันเงินปอนด์ใน ค.ศ. ๑๘๒๑ ทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษฟื้นตัวขึ้น ความวุ่นวายทางสังคมจึงเริ่มบรรเทาลง ทั้งการเมืองก็มีความก้าวหน้าขึ้น โดยหลังจากการก่ออัตวินิบาตกรรมของไวส์เคานต์คาสเซิลเร (Viscount Castlereagh)* ใน ค.ศ. ๑๘๒๒ ก็ได้มีการปรับคณะรัฐมนตรี ลิเวอร์พูลได้แต่งตั้งคนหนุ่มหรือพวกทอรีหนุ่ม (Young Tory) ที่มีความคิดก้าวหน้าและความสามารถเข้ามาช่วยบริหารประเทศ เช่น จอร์จ แคนนิง (George Canning)* เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อคาสเซิลเร วิลเลียม ฮัสคิสสัน (William Huskisson)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เซอร์รอเบิร์ต พีล (Robert Peel)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเฟรเดอริก จอห์น รอบินสัน [ (Frederick John Robinson) ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นไวส์เคานต์ที่ ๑ แห่งโกเดอริก (1st Viscount of Goderick) และเอิร์ลแห่งริพอน (Earl of Ripon) ตามลำดับ] เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ต่อมาบุคคลทั้งหมดดังกล่าวนี้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามวาระต่าง ๆ) ทั้งนี้โดยลิเวอร์พูลให้อิสระแก่พวกทอรีหนุ่มหัวก้าวหน้าที่ต่างเลื่อมใสในนโยบายการปกครองแนวเสรีนิยมของอดีตนายกรัฐมนตรีวิลเลียม พิตต์ (บุตร) ในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับกระทรวงที่ตนรับผิดชอบ รวมทั้งการปฏิรูปต่าง ๆ ด้วย
     ในช่วง ๕ ปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของลิเวอร์พูล รัฐบาลของเขาดำเนินนโยบายการปฏิรูปประเทศที่แข็งขันที่สุด มีการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญาให้ทันสมัยและเป็นธรรมมากขึ้น ลดจำนวนความผิดของโทษประหารที่มีกว่า ๒๐๐ ประเภทเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง จัดตั้งหน่วยงานตำรวจนครบาล (Metropolitan Police) ขึ้น เปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าในแนวลัทธิพาณิชยนิยม (mercantilism) และการให้ความคุ้มครองผลผลิตทางการเกษตรที่ปฏิบัติกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานมาเป็นระบบการค้าแบบเสรี อนุญาตให้เรือต่างชาติสามารถขนส่งสินค้าอังกฤษและประเทศอาณานิคมของอังกฤษติดต่อค้าขายโดยตรงกับนานาประเทศได้ ปฏิรูประบบการเงิน ลดภาษีประเภทต่าง ๆ รวมทั้งภาษีสินค้านำเข้าและให้ความเสมอภาคแก่ต่างชาติในการเสียภาษีศุลกากร และยกเลิกกฎหมายห้ามการชุมนุม เป็นต้น ส่วนในด้านการต่างประเทศก็ยึดถือนโยบายไม่แทรกแซงด้านการเมืองภายในของต่างประเทศและต่อต้านประเทศมหาอำนาจยุโรปที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับขบวนการลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยมในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือสนับสนุนหลักการมอนโร (Monroe Doctrine) ของสหรัฐอเมริกาที่ต่อต้านประเทศยุโรปไม่ให้เข้าแทรกแซงและขยายอิทธิพลในทวีปอเมริกา นโยบายต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ล้วนแต่เป็นการปูพื้นฐานในการดำเนินนโยบายของอังกฤษในคณะรัฐบาลต่าง ๆ ต่อมา ซึ่งสร้างความมั่นคงและความแข็งแกร่งให้แก่อังกฤษทั้งภายในและภายนอกประเทศ
     แม้ว่ารัฐบาลในเวลานั้นจะดำเนินนโยบายส่งเสริมลัทธิเสรีนิยม แต่ลิเวอร์พูลกลับไม่สนับสนุนการให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกอย่างทัดเทียมกับพวกนิกายโปรเตสแตนต์ และเป็นการสวนกระแสแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรีวิลเลียม พิตต์ (บุตร) ที่ต้องการให้สิทธิความเสมอภาคกับพวกคาทอลิกโดยเฉพาะในไอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๒๕ เขาเกือบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อร่างพระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก (Catholic Emancipation)* ได้รับความเห็นชอบจากสภาสามัญแต่ตัดสินใจดำรงตำแหน่งต่อไปเมื่อร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ผ่านที่ประชุมสภาขุนนาง ขณะเดียวกันลิเวอร์พูลก็ทำหน้าที่ช่วยประสานรอยร้าวระหว่างสมาชิกพรรคทอรีที่มีความคิดเห็นที่ แตกต่างกันในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศและนโยบายสนับสนุนลัทธิเสรีนิยมของพรรค รวมทั้งการสนับสนุนการยกเลิกการกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกของสมาชิกบางคน นับเป็นความสามารถของเขาที่สามารถทำให้หมู่สมาชิกของพรรคทอรียังคงร่วมมือกันทำงานต่อไปและรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผู้นำของพรรคคนต่อ ๆ มา เช่น แคนนิง โกเดอริกและดุ๊กแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington)* วีรบุรุษในยุทธการแห่งวอเตอร์ลูกลับล้มเหลวที่จะสร้างเอกภาพของสมาชิกพรรคทอรีได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลิเวอร์พูลได้รับการนับถือจากสมาชิกพรรคว่าเป็นผู้มีคุณธรรม ทั้งยังไม่ใช้วิธีการเสนอแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้แก่นักการเมืองคนใดเพื่อแลกกับเสียงสนับสนุน แม้แต่การเสนอแต่งตั้งสมณศักดิ์ก็คำนึงถึงความดีความชอบของนักบวชผู้นั้นเป็นหลักโดยปราศจากอิทธิพลของผู้อื่น ซึ่งต่อมาในทศวรรษ ๑๘๔๐ นายกรัฐมนตรีเซอร์รอเบิร์ต พีลก็ได้ ทำให้เกณฑ์การสถาปนาสมณศักดิ์เป็นระบบที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับโดยทั่ว
     ลิเวอร์พูลล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองอุดตันและเป็นอัมพาตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๒๗ และประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก ๒ เดือนต่อมาในวันที่ ๙ เมษายน จอร์จ แคนนิงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นจุดเริ่มต้นของการแตกแยกของพรรคทอรีเพราะรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลจำนวน ๗ คนขอลาออกจากตำแหน่ง พรรคทอรีที่มีแคนนิงเป็นผู้นำจึงต้องรวมตัวกับพรรควิกและพรรควิกได้กลายเป็นฐานอำนาจทางการเมืองของเขาตลอดระยะเวลา ๕ เดือนที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
     เอิร์ลแห่งลิเวอร์พูลถึงแก่อสัญกรรมจากอาการป่วยเมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๒๘ ณ คูมบ์เฮาส (Coombe House) รวมอายุได้ ๕๘ ปี เขาผ่านการสมรส ๒ ครั้งแต่ไม่มีบุตรธิดา ดังนั้น บรรดาศักดิ์เอิร์ลแห่งลิเวอร์พูลจึงตกเป็นของชาลส์ ซีซิล โคป เจงกินสัน (Charles Cecil Cope Jenkinson) น้องชายต่างมารดาและทายาทผู้สืบสกุลในสายของเขา ได้มีการตั้งชื่อถนนสายหลักสายหนึ่งในกรุงลอนดอนว่า "ลิเวอร์พูล" เพื่อเป็นเกียรติแก่เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิเวอร์พูลด้วย.



คำตั้ง
Liverpool, 2nd Earl of; Robert Jenkinson
คำเทียบ
รอเบิร์ต เจงกินสัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิเวอร์พูล
คำสำคัญ
- เวลลิงตัน, ดุ๊กแห่ง
- พระราชบัญญัติเลิกกีดกันคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก
- เจงกินสัน, ชาลส์ ซีซิล โคป
- ลัทธิพาณิชยนิยม
- หลักการมอนโร
- ฮัสคิสสัน, วิลเลียม
- ริพอน, เอิร์ลแห่ง
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- รอบินสัน, เฟรเดอริก จอห์น
- ลิเวอร์พูล, รอเบิร์ต เจงกินสัน เอิร์ลที่ ๒ แห่ง
- จอร์จที่ ๓, พระเจ้า
- การทลายคุกบาสตีย์
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- พรรคทอรี
- เจงกินสัน, ชาลส์
- พิตต์ , วิลเลียม, (บุตร)
- พรรคอนุรักษนิยม
- ไรย์, เขต
- ฟูลัม, เมือง
- โลว์เทอร์, เซอร์เจมส์
- สงครามนโปเลียน
- ฮอว์กสเบอรี, ลอร์ดแห่ง
- เกรนวิลล์, วิลเลียม วินดัม ลอร์ดที่ ๑ แห่งเกรนวิลล์
- ซิดมัท, ไวส์เคานต์
- พรรควิก
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- พรรคเสรีนิยม
- พอร์ตแลนด์, วิลเลียม คาเวนดิช เบนทิงก์ ดุ๊กที่ ๓ แห่ง
- ระบบกงสุล
- เพอร์ซิวัล, สเปนเซอร์
- เวลส์, เจ้าชายแห่ง
- สนธิสัญญาอาเมียง
- ฮอว์กสเบอรี, บารอน
- สภาขุนนาง
- แอดดิงตัน, เฮนรี
- คอบเบตต์, วิลเลียม
- คาร์ตไรต์, จอห์น
- ยุทธการที่วอเตอร์ลู
- ที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การสังหารหมู่ที่ปีเตอร์ลู
- ฮันต์, เฮนรี
- สมัยร้อยวัน
- ลัดไดต์, พวก
- ระบบปิดล้อมภาคพื้นทวีป
- ขบวนการชาร์ทิสต์
- เซนต์ปีเตอร์สฟีลด์, บริเวณ
- พระราชบัญญัติ ๖ ฉบับ
- โกเดอริก, ไวส์เคานต์ที่ ๑ แห่ง
- กรณีพระนางแคโรลีน
- แคนนิง, จอร์จ
- คาสเซิลเร, ไวส์เคานต์
- จอร์จที่ ๔, พระเจ้า
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1770-1828
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๑๓-๒๓๗๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf